แอ่งเกลือ…ขุมทรัพย์แดนอีสาน

แอ่งเกลือ…ขุมทรัพย์แดนอีสาน

อาณาจักรเกลือในดินแดนอีสาน คือหลักฐานที่ห้วงทะเลได้ฝากทิ้งไว้ ราว ๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว น้ำทะเลที่ไหลท่วมดินแดนแห่งนี้ได้ถูกปิดกั้นด้วยเทือกเขา การยกตัวของเทือกเขาภูพานตอนกลางของภาค ได้ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนอีสานเป็น ๒ ส่วน มีลักษณะเป็นแอ่งคล้าย ๆ ก้นกะทะ ประกอบด้วย ส่วนที่อยู่ทางเหนือเรียกว่า “แอ่งสกลนคร”  และส่วนทางตอนใต้ที่เรียกว่า “แอ่งโคราช”


ภาพ ที่ราบสูงโคราช
ที่มา www.chk.ac.th

         ขอบแอ่งที่ยกตัวขึ้นนั้นก็ได้กั้นให้เกิดเป็นทะเลปิด น้ำทะเลที่ถูกขังอยู่ใน “แอ่ง” นานวันเข้าน้ำเค็มเหล่านี้ก็ถูกแสงแดดแผดเผาจนเหลือเป็นเพียงตะกอนเกลือหิน และ แร่โพแตชที่เป็นแร่ที่พบไม่กี่แห่งในโลกอยู่บนแผ่นดิน และจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาตลอดเวลาน้ำบาดาลก็ได้กัดเซาะโดมเกลือ (dome) ใต้ดินจนทรุดตัวลงกลายเป็นทะเลสาบต่างๆ ดังนั้นหากพบหนองน้ำหรือทะเลสาบที่ไหนในภาคอีสาน เช่น บึงกาฬ (หนองคาย) หนองหาร ( สกลนคร) และหนองหาน ( อุดรธานี) จึงให้สันนิษฐานได้ว่าข้างล่างเป็นโดมเกลือนั้นเอง


ภาพ เกลือ – โพแทช ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ที่มา dovepket.moe.go.th

         ที่ราบสูงอีสานถือเป็นที่ราบสูงผืนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สภาพธรณีวิทยามีชั้นหินเกลือและแร่โพแตชคุณภาพเยี่ยมทับถมกระจายไปกว่า ๒ ใน ๓ ของพื้นที่ ชุดดินที่เกิดจากการรุกของทะเลนี้ คือ หมวดหินมหาสารคาม(Maha Sarakham Formation) ที่เกิดในยุคครีเทเชียสตอนปลาย ประกอบด้วย หินดินดานเนื้อหยาบ และหินทรายแป้ง มีความหนามาก  มีสีแดงซีดถึงน้ำตาลปนแดง มีชั้นหินเกลือแทรกตัวอยู่ และหมวดหินภูทอก (Phu Tok Formation) เกิดในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี่ ประกอบด้วยหินทรายเนื้อละเอียดถึงปานกลาง แทรกด้วยหินตะกอนทราย สีน้ำตาลแดง


ภาพ ลำดับชั้นหินของหมวดหินมหาสารคามดัดแปลงจาก ผลการเจาะสำรวจ บริเวณ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
ที่มา กรมทรัพยากรธรณี

         จากภาพ  กรมทรัพยากรธรณีเรียกหน่วยหินที่มีชั้นเกลือหินแทรกสลับว่า “หมวดหินมหาสารคาม (Maha Sarakham Formation)” ซึ่งลำดับชั้นดั้งเดิมประกอบด้วย ชั้นเกลือหิน (rock salt) 3 ชั้นแทรกสลับกับหินตะกอนสีน้ำตาลแดง มี ความหนารวมกันประมาณ 300-400 เมตร

“ผลึกเกลือ” อันเกิดขึ้นจากการเกาะเกี่ยวกันอยู่ระหว่างโมเลกุลของโซเดียมกับคลอไรด์ (NaCI) นี้ มนุษย์รู้จักมันมานานนับพันๆปี ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ เกลือเป็นสิ่งมีค่ายิ่งนอกจากเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยรักษาสมดุลในร่างกายแล้ว เกลือยังมีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนไม่น้อย เช่น น้ำปลา สบู่ ผงชูรส น้ำหอม ฟอกสีกระดาษและสิ่งทอ การฟอกหนัง ทำวัตถุระเบิด ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและรถยนต์ อุตสาหกรรมด้านอาหาร ทำฝนเทียม เป็นต้น

 
ภาพ เกลือตาก นาเกลือบ้านดุง อุดรธานี
ที่มา img15.imageshack.us

         เกลือจึงเป็นของล้ำค่า มีการนำเกลือมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ใช้เกลือจ่ายค่าแรง มีการบูชาสิ่งของแก่เทพแห่งเกลือ นอกจากนี้เกลือยังเป็นชนวนเหตุแห่งสงครามและการแก่งแย่ง เช่น การปฏิวัติในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ในฝรั่งเศส หรือการต่อสู้เรียกร้องเอกราช ของมหาตมะคานธีที่นำฝูงชนเดินเท้าไปยังบ่อเกลือที่ถูกชาวอังกฤษควบคุม

 สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าเกลือเป็นแร่ธาตุที่ปฏิวัติสังคมอีสาน เส้นทางสายเกลือมีความสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเกลือ จากดินแดนแห่งนี้กระจายข้ามลำน้ำโขงไปยังลาว เวียดนาม รวมทั้งอาณาจักรอันรุ่งเรื่องของกัมพูชาที่มีความต้องการใช้เกลืออย่างมหาศาลในการถนอมอาหารที่ได้จากปลาในทะเลสาบเขมรอันกว้างใหญ่โดยมีแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้


ภาพ บ่อพันขัน บ่อเกลือดึกดำบรรพ์ บ่อน้ำจืดที่ไหลไม่หยุด ท่ามกลางแหล่งหินเกลือใต้ดิน ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการทำเกลือแล้ว
ที่มา www.sadoodta.com

         จากร่องรอยของอารยธรรมโบราณที่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๒,๐๐๐ ปี นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า บ่อพันขัน เคยเป็นบ่อนาเกลือสินเธาว์อันกว้างใหญ่ไพศาล เนื้อที่ประมาณ 600 – 700 ไร่ ใจกลางทุ่งกุลา จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นแหล่งอารยธรรมชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีการต้มเกลือมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ทำการการผลิตเกลือเพื่อส่งขายและแลกเปลี่ยนกับชุมชนรอบๆ พื้นที่ ถือเป็นผลิตเกลือขนาดใหญ่สุดในแถบอีสานใต้ จึงเชื่อว่ายุคหนึ่งที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมของอีสาน

ในอดีต การทำเกลือแบบพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาที่ซับซ้อนด้วยรายละเอียดสืบทอดกันมาหลายชั่วคน นานนับพันๆ ปี เรียกว่าเป็นวิธีการต้มเกลือจากดินเอียด ซึ่งแต่ละท้องที่ก็อาจมีเกี่ยวกับพิธีกรรม และอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักๆแล้วก็คือ  ทำการขูดเอาดินเอียดหรือคราบเกลือในระดับผิวดินแล้ว

เมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำตามแหล่งเกลือเหือดแห้งลง ลานดินจะปรากฏเป็นดินเอียด หรือ คราบเกลือ หรือบ้างก็เรียกว่า ขี้ทา เป็นคราบขาวโพลนรอให้คนมาขูด


ภาพ ขี้ทา เป็นคราบขาวโพลนอยู่ตามผิวดิน
ที่มา www.arunsawat.com

         จากนั้นก็จะนำเอาเกลือปนดินเหล่านี้ไปละลายด้วยน้ำ ทำการกรองเอาน้ำเกลือ โดยมีการทดสอบความเข้มข้นของน้ำเกลือด้วยการหย่อน“ลูกครั่ง” ลงไป หากลอยอยู่ผิวน้ำก็แสดงว่าความเข้มข้นเหมาะที่จะต้มเป็นเกลือได้ หรือ ใช้วิธีหัก “กิ่งสะแกแห้ง” เป็นท่อนๆลงไป ถ้ากิ่งไม้ลอยก็แสดงว่าเป็นอันใช้ได้เช่นกัน จากนั้นก็นำไปต้มเอาผลึกเกลือ ด้วยวิธีต่างๆ พร้อมกับประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของท้องถิ่น


ภาพการทำเกลือสินเธาว์จากดินเค็ม
ที่มา kanchanapisek.or.th

แต่ปัจจุบัน วัฒนธรรมการต้มเกลือแบบพื้นบ้านกำลังจะตายจากอีสาน

จากนั้นการผลิตเกลือได้ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ทำให้โกดังเก็บเกลือทะเลในกรุงเทพฯเสียหายไปหมด ทำให้ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เกิดวิกฤติการณ์เกลือทะเลมีราคาแพงขึ้น ๑๐ เท่า นายทุนเกลือทะเลจากอ่าวไทยจึงย้ายฐานการผลิตเกลือมาสู่ดินแดนอีสาน โดยเฉพาะในเขตต้นน้ำเสียว จ.มหาสารคาม มีขุดเจาะรวมและสูบเอาน้ำเกลือมาต้มกันอย่างแพร่หลาย โดยกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่ ซึ่งใช้กรรมวิธีผลิตแบบ “เกลือตาก”  บนลานดินหรือลานซีเมนต์เพื่อลดต้นทุนสู้กับเกลือทะเลที่มีราคาถูกลง อีกทั้งยังกระบวนการผลิตที่ทันสมัยขึ้น มีการผสมแมกนีเซียมไบคาร์บอเนต และซิลิเกต เพื่อป้องกันไม่ให้เกลือจับตัวเป็นก้อนเมื่อโดนความชื้น

การผลิตเกลือยุคนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเกิดปัญหากระทบสิ่งแวดล้อม น้ำเค็มดินเค็ม สัตว์น้ำตาย ความอุดมสมบูรณ์ลดลง ข้าวในนาเสียหาย ทำให้ชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้ยุติการทำนาเกลือและฟื้นฟูลุ่มน้ำเสียว  รัฐบาลในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ จึงได้ออกคำสั่งปิดกิจการผลิตเกลือสินเธาว์ในเขตลุ่มน้ำเสียวทั้งหมดในปี๒๕๒๓ แต่ก็เป็นการชะงักเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพราะมีการลักลอบทำนาเกลือเกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดการประท้วงใหญ่ที่รุนแรงในปี ๒๕๓๓ จึงทำให้การทำนาเกลือในลุ่มน้ำเสียวได้ยุติลงอีกครั้ง

ต่อมาการทำอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่ได้ทำให้เกิดที่ดินเปลี่ยนมือจากชาวบ้านเป็นของนายทุน
เริ่มมีผลิตเกลือสินเธาว์ให้ได้มากขึ้นด้วยการใช้วิธี ทำเหมืองละลายเกลือหิน


ภาพ Pimai Salt Mining;โรงงานเกลือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่ที่โคราชที่อำเภอพิมาย
ที่มา www.nesac.go.th

         และแล้วการผลิตก็เข้าสู่ยุคของการทำเหมืองแร่โปแตซ เพื่อสนองตอบความต้องการที่มากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี และผลพลอยได้จากการทำเหมืองแร่โปแตซก็คือเกลืออันมหาศาล การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีราคาถูก  ทำให้การผลิตเกลือแบบต้มและตากหมดหายไป แต่เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสภาพแวดล้อมจนเกิดแรงต่อต้านจากประชาชน


ภาพ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เรียกร้องให้ยติบทบาทกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ ที่มา
ที่มาwww.esaanvoice.net

         แน่นอนว่าเกลือคือขุมทรัพย์ที่ธรรมชาติมอบให้ชาวอีสาน ที่พร้อมให้ผลประโยชน์มากมายมหาศาล แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ลดละได้ลุกลามอย่างต่อเนื่อง คงต้องคิดให้ดีว่าเราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุด และเหมาะสมกับสังคมไทย

ข้อมูลอ้างอิง
ดินเค็มในภาคอีสานกับปัจจัยทางธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี
บ่อพันขัน บ่อเกลือดึกดำบรรพ์ 2,500 ปี ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน คอลัมน์ ภูมิสังคมวัฒนธรรม
ต่างชาติฮุปสัมปทาน เหมืองโปแตซ มูลนิธิกองทุนไทย
แอ่งเกลืออีสาน เรื่องโดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
เส้นทางเกลือ ทีมงานไทยเอ็นจีโอ
กลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ครูธรรมรัตน์ นุตะธีระ โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
การทำนาเกลือสินเธาว์ โดย เพียงตา สาตรักษ์
เกลือสินเธาว์และการรุมโทรมแผ่นดินอีสาน ศูนย์ข้อมูล กป.อพช. อีสาน
วัฒนธรรมการต้มเกลือกำลังจะตายจากอีสาน หลังอุตฯ-โปแตซแทนที่ สำนักข่าวประชาธรรม

ที่มาของบทความ: http://www.vcharkarn.com/varticle/39952